วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ปรัชญาพื้นฐานของการสังคมสงเคราะห์

ปรัชญาพื้นฐานของการสังคมสงเคราะห์ นั้นเป็นความคิดในลักษณะของการกุศล หรือการอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน โดยมองมนุษย์ว่าสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ เน้นการให้ความสำคัญกับศักยภาพ สิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน โดยมีประโยคที่เปรียบเสมือนหัวใจของงานสังคมสงเคราะห์สองประโยค ได้แก่





" work with, not work for " และ



" help them to help them selves"







โดยที่ work with, not work for นั้นมีความหมายที่ว่า การสังคมสงเคราะห์นั้นเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักสังคมสงเคราะห์กับผู้ที่ประสบปัญหา เป็นการช่วยเหลือในฐานะเพื่อนมนุษย์อย่างเท่าเทียม



ส่วน help them to help themselves นั้น หมายถึง การช่วยเพื่อให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นการให้ความสำคัญในความคิดที่ว่า มนุษย์นั้นสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองจนสามารถพึ่งพาตนเองได้ นักสังคมสงเคราะห์จะเลือกวิธีการช่วยเหลือที่ไม่ได้ทำให้ผู้รับบริการสูญเสียความเป็นมนุษย์ไป โดยยึดมั่นในหลักปรัชญาพื้นฐานที่เชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์





โดยสรุปแล้ว แนวคิดพื้นฐานของการสังคมสงเคราะห์นั้นเป็นการผสมผสานกันระหว่างค่านิยมเชิงคุณธรรม อันได้แก่ ค่านิยมเรื่องความรับผิดชอบที่จะต้องช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก และทัศนคติในเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่สามารถพัฒนาศักยภาพ มีสิทธิ และมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน

วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ความหมายของสังคมสงเคราะห์

แมรี่ ริชมอนด์
"สังคมสงเคราะห์เป็นศิลปะแห่งการให้ความช่วยเหลือและเป็นการใช้สามัญสำนึกในสถานการณ์ที่ไม่สามัญ"

" เป็นกระบวนการพัฒนาบุคลิกภาพของคน โดยการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วยกันและระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อมสังคม"
ความหมายนี้ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมันด์ ฟรอยด์


เบอร์ทา ซี. เรย์โนลด์
"งานสังคมสงเคราะห์เป็นงานที่ช่วยเหลือคนในการปรับตัวให้สอดคล้องกับครอบครัว กลุ่ม และชุมชน"


เฮอร์เบิร์ต เอช. สตรุป
"งานสังคมสงเคราะห์ คือ ศิลปะของการนำเอาทรัพยากรต่างๆ มาใช้เพื่อสนองความต้องการ โดยการนำเอาวิธีการทางวิทยาศาสตร์ของการช่วยเหลือ เพื่อให้คนช่วยตนเองได้"

โซเฟีย ที. บิวทริม
"งานสังคมสงเคราะห์คือวิชาชีพแห่งการให้ความช่วยเหลือ โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การส่งเสริมสวัสดิภาพของมนุษย์ ผ่านการป้องกันและขจัดปัญหาความเดือดร้อนต่างๆให้หมดสิ้นไป รวมทั้งเกี่ยวข้องกับปัญหาในด้านชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างกว้างขวาง"


โรเบิร์ต ซี ครูซ
"งานที่พยายามให้ความช่วยเหลือผู้ซึ่งไม่สามารถช่วยตนเองในการดำรงชีวิตได้ และเป็นงานที่พยายามจะทำให้มนุษย์มีอิสระในตนเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นั่นคือ สามารถช่วยตนเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น"



ศ. คุณนวลนาฏ อมาตยกุล
" การสั้งคมสงเคราะห์หมายถึงวิชาชีพหนึ่งวิชาชีพ สังคมสงเคระาห์ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อช่วยมนุษย์ให้มีชีวิต และความเป็นอยู่อย่างสมศักด์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ และช่วยสังคมให้มีลักษณะเอื้ออำนวยให้มนุษย์เจริญงอกงาม สามารถเป็นพลังทางเศรษฐกิจและสังคม ให้แก่ประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ"


รศ. นันทนีย์ ไชยสุต
"การสังคมสงเคราะห์หมายถึง การจัดให้มีมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นรายบุคคล เป็นกลุ่มหรือทั้งชุมชน โดยใช้หลักทฤษฎีของการสังคมสงเคราะห์เป็นแนวปฏิบัติ ผู้ที่ปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ หรือที่เรียกว่า นักสังคมสงเคราะห์ จะต้องปฎิบัติงานนี้โดยใช้หลักวิชาชีพ หรือนัยหนึ่ง คือใช้หลักการ วิธีการ และกระบวนการของการสังคมสงเคราะห์ ไม่ใช่เพียงแต่หยิบยื่นสิ่งที่ผู้มีปัญหาต้องการก็เป็นอันว่าได้ให้บริการสังคมสงเคราะห์แล้ว"


ศ. ยุพา วงศ์ไชย
"การสังคมสงเคราะห์หมายถึง ศาสตร์และศิลป์ของการจัดหาบริการเพื่อช่วยส่งเสริมความสามารถของบุคคลให้สามารถปฎิบัติหน้าที่ของตน ที่มีอยู่ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และดำรงชีพอยู่ได้อย่างเป็นสุข"


รศ. ดร. ศรีทับทิม พานิชพันธุ์
" สังคมสงเคราห์เป็นวิธีการที่ใช้เป็นเครื่องมือในการจัดบริการสังคมประเภทต่างๆ โดยตรงให้แก่บุคคล กลุ่ม และชุมชน ซึ่งประสบปัญหาความเดือดร้อนและอื่นๆ จนไม่สามารถช่วยตนเองได้ในระยะแรก จำเป็นต้องกาศัยการช่วยเหลือจากนักสังคมสงเคราะห์ซึ่งมีความรู้ ทัศนคติและประสบการณ์ หรือทักษะในงานสังคมสงเคราะห์เป็นอย่างดี โดยที่นักสังคมสงเคราะห์จะใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ใช้ความสามารถหรือศักยภาพของเขาเอง ข่วยให้เขาสามารถปฎิบัติหน้าที่ทางสังคมได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สามารถปรับตัวเองให้เข้ากับสมาชิกครอบครัว กลุ่ม และชุมชน ตลอดจนสังคมได้ด้วยดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงปลอดภัย และเสถียรภาพที่ดี"

ผศ. ดร. ทัศนีย์ ลักขณาภิชนชัช
"การสังคมสงเคราะห์ เป็นการนำความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสังคม เช่นพฤติกรรมศาสตร์ และสังคมศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการทำความเข้าใจกระจ่างชัดในปัญหาความเดือดร้อนของมนุษย์และสังคม ผนวกเข้ากับองค์ความรู้ในกระบวนการช่วยเหลือมนุษย์และสังคมด้วยระเบียบวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ผสมผสานกับทัศนคติ หลักการและวัตถุประสงค์ของการให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้มนุษย์ทั้งที่เป็นบุคคล กลุ่ม ชุมชน และสังคม สามารถช่วยเหลือและพึ่งตนเองได้ มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น"


คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนางานสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ ( 2530) ได้ให้ความหมายไว้ในแผนพัฒนาการสังคมสงเคราะห์แห่งชาติฉบับที่ 1 ว่า
" การสังคมสงเคราะห์ หมายถึง ศาสตร์และศิลป์ในการป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟู และพัฒนาบุคคล กลุ่ม ชุมชน ทั้งทีประสบและไม่ประสบปัญหาความเดือดร้อน ให้สามารถช่วยเหลือตนเองและสังคมได้"




การวิสัชนาเรื่อง " ความหมายแท้จริงของการสังคมสงเคราะห์" ของพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
"ตามศัพท์ (สังคมสงเคราะห์) แปลง่ายๆ ว่า การสงเคราะห์สังคม แต่ถ้าจะแปลให้ลึกกว่านั้น ก็มีความหมายทางธรรม สงเคราะห์ คำบาลีเป็น สงฺคห (สังคห) แปลว่า ประมวล รวบรวม จับมา รวมเข้าด้วยกัน ยึดเหนื่ยวจิตใจให้รวมกันเป็นหนึ่่ง ผูกใจกันไว้ สังคห ที่แปลว่า ยึดเข้าไว้ด้วยกันนั้น หมายถึง ยึดในแง่นามธรรมและยึดในแง่รูปธรรม ทางนามธรรม คือ ยึดเหนี่ยวผูกจิตใจให้รวมกันเป็นหนึ่ง ทางรูปธรรม คือ ให้คนมารวมกัน ประสานเข้าด้วยกัน
ดังนั้น ความมุ่งหมายของสังคมสงเคราะห์ จึงไม่ใช่เป็นเพียงเอาอะไรไปให้เขา ไม่ใช่เอาบริการไปให้ เอาทรัพย์สินเงินทองไปให้ แต่หมายถึงทำให้สังคมรวมใจกัน ผนึกยึดเหนี่ยวกันไว้ให้ได้ ถ้ามองในแง่นี้ หน้าที่ของเรา จึงไม่ใช่เป็นเพียงเอาอะไรไปหยิบยื่นให้"

"สังคห เป็นภาษาบาลี แต่เมื่อจะเอาเข้ามาในไทย เราเอารูปสันสกฤตซึ่งมีตัว "ร" คือ สังครห เข้ามา แล้วไทยก็แผลงเป็นสังเคราะห์บ้าง สงเคราะห์บ้าง ความจริงนั้น ทั้งสองคำนี้เป็นคำเดียวกัน แต่เราใช้สงเคราะห์ในความหมายหนึ่ง และสังเคราะห์ในอีกความหมายหนึ่ง ถ้าเราจะใช้ "สังคห" ให้ถูกต้องตามความหมายทางธรรม จะต้องก้าวไปให้ถึงขั้นนี้ คือ ทำให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
คำว่า สังคห หรือ สงเคราะห์นี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ด้วยกันเป็ฯชุดเดียวกับคำอื่นอีกสามคำ เรียงลำดับเป็น สังคห อวิวาท สามัคคี และเอกีภาพ คือ ความยึดเหนี่ยวประสานกันไว้ ความไม่ทะเลาะวิวาท ความพร้อมเพรียง และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่เราใช้ว่า เอกภาพ เวลาแปลเป็นภาษาอังกฤษ ถ้าแปลอย่างเบื้องต้นก็ว่า help หรือ assistance แต่ถ้าจะแปลให้ลึกลงไปในสาระ ก็แปลกันตั้งแต่ sympathy จนถึง solidarity หรือ social integration"







จะเห็นได้ว่า ความหมายของคำว่า "สังคมสงเคราะห์" มีความเปลี่ยนแปลง และไม่เคยหยุดนี่ง แต่ความหมายที่น่าจะสอดคล้องกับสถานการณ์ของสังคมไทย และให้คุณค่า ที่สะท้อนปรัชญาการทำงานสังคมสงเคราะห์ตามแบบไทยได้ดีที่สุดก็น่าจะเป็นความหมายที่พระเทพเวที ได้ให้ไว้ โดยเน้นที่ว่า เป็นการทำงานอย่างครอบคลุมและกว้างขวาง และมิใช่เป็นการให้ความช่วยเหลือเพียงอย่างที่เคยยึดถือกันมา แต่ให้ความหมายของการสังคมสงเคราะห์ในแง่ของบูรณาการทางสังคม ซึ่งคือการทำให้สังคมรวมกันได้ ไม่ให้เกิดการแตกแยกแตกร้าวระหว่างคนในสังคม

วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2550

รายชื่อวิชา

คำอธิบายรายวิชา

วิชาพื้นฐานทั่วไป

สค111 พื้นฐานแนวความคิดและปรัชญาสังคมสงเคราะห์ 3 หน่วยกิต
SW111 Conceptual and Philosophical Foundations of Social Work
ศึกษา และวิเคราะห์แนวความคิด และปรัชญาอันหลากหลาย ที่เป็นพื้นฐานของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่นำไปสู่การปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ที่แตกต่างกัน ตลอดจนศึกษาความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างปรัชญาแนวความคิดและการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง ทั้งในบริบทสากลและสังคมไทย
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

วิชาบังคับในสาขา

สค211 จริยธรรมและคุณค่าความเป็นมนุษย์ 3 หน่วยกิต
SW211 Ethics and Human Dignity
ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี และปัญหาพื้นฐานทางจริยศาสตร์ในมิติของศาสนา กฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน สิทธิประชาชน สิทธิสวัสดิการ (Welfare Right) ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับนักวิชาชีพ ในงานสวัสดิการสังคม พัฒนาการจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ การวิเคราะห์ประเด็นทางจริยธรรม และประเด็นทางสิทธิมนุษยชน เพื่อการเสริมสร้างทัศนคติ ค่านิยม ความเชื่อ และศรัทธาต่อคุณค่าความเป็นมนุษย์
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค212 พลวัตพฤติกรรมมนุษย์ในสังคมที่เปลี่ยนแปลง 3 หน่วยกิต
SW212 Dynamics of Human Behavior in Changing Society
ศึกษาแนวความคิด และทฤษฎีเกี่ยวกับพลวัตพฤติกรรมมนุษย์ การเจริญเติบโต และพัฒนาการของมนุษย์ ในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ปฏิสนธิถึงวัยชรา ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ในแต่ละช่วงวัย โดยเชื่อมโยงสัมพันธ์กับพลวัตการ เปลี่ยนแปลงสังคม ศึกษาและวิเคราะห์กลไกทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์ในสังคมที่เปลี่ยนแปลง ความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมทางสังคม ที่มีผลต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างความต้องการของมนุษย์และความคาดหวังของสังคม
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค213 การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและปัญหาสังคม 3 หน่วยกิต
SW213 Social Change and Social Problems
ศึกษาวิเคราะห์แนวคิด ทฤษฎี การเปลี่ยนแปลงทางสังคม บทบาทของสถาบันทางสังคมจ่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม พลวัตการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่ออุดมการณ์ทางสังคม (Social Ideology) บูรณาการทางสังคม (Social Integration) ปัญหาสังคม (Social Problems) ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ ทัศนคติ มาตรการทั้งเชิงรับและเชิงรุกที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและพัฒนาสังคม
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค214 สวัสดิการสังคมกับความมั่นคงของมนุษย์และสังคม 3 หน่วยกิต
SW214 Social Welfare and Human Security
ศึกษาพัฒนาการทางแนวคิด และคุณค่าของงานสวัสดิการสังคม แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศึกษาองค์ประกอบ หลักการ กลไก และบทบาทของระบบสวัสดิการสังคมต่อความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อการเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิต และการพัฒนาสังคม
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค221 สังคมไทยกับทฤษฎีและหลักการพัฒนาสังคม 3 หน่วยกิต
SW221 Thai Society and Theory and Principle of Social Development
ศึกษาที่มาและแนวคิดในการพัฒนาสังคมไทย โครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การเปลี่ยนแปลง และผลกระทบต่อบทบาท และสถานะของคนในสังคม รวมทั้งองค์ประกอบที่มีผลต่อพัฒนาการของสังคมไทย
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค222 หลักการและทฤษฎีการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ 3 หน่วยกิต
SW222 Principle and Theory of Social Work Practice
ศึกษาแนวคิด ทฤษฎีการปฏิบัติงานทางสังคมสงเคราะห์ ที่เป็นฐานหลักร่วมกันในการปฏิบัติงานให้ครอบคลุมในทุกระดับ ทั้งการแก้ไข การป้องกัน การฟื้นฟูสภาพและการพัฒนา รวมถึงการทำงานในหลากหลายมิติ เช่น การประเมินสภาวะทางสังคม (social assessment) ทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน การประเมินวิเคราะห์สถานการณ์ (situation analysis) การยึดปัญหาของกลุ่มเป้าหมาย ครอบครัว สถาบันและชุมชนเป็นฐานการดำเนินงานในภาวะวิกฤต รวมทั้งทฤษฎีการปฏิบัติงานแบบ ผสมผสาน ทฤษฎีระบบ การพิทักษ์สิทธิ การเสริมพลังอำนาจ
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค223 หลักและวิธีการสังคมสงเคราะห์ 1 3 หน่วยกิต
SW223 Social Work Methodology 1
วิชาบังคับก่อน : สอบได้ สค111
ศึกษาแนวคิดทฤษฎี หลักการ วิธีการและกระบวนการทางสังคมสงเคราะห์ที่ใช้ในการทำงานกับระดับบุคคล ครอบครัวและกลุ่ม ค่านิยมทางวิชาชีพที่เป็นเจตคติพื้นฐาน ทัศนคติ เทคนิคและทักษะทางวิชาชีพที่หลากหลาย เพื่อให้การเข้าถึงและวินิจฉัยปัญหาของกลุ่มเป้าหมาย และบริบทแวดล้อมมีความลึกซึ้ง มีคุณภาพ การวางแผน (Individual Plan) และการจัดการระบบบริการรายกรณี (Case Management) รายกลุ่ม (Group Management) การพัฒนาสัมพันธภาพทางวิชาชีพและความเป็นสหวิชาชีพบนฐานการมีส่วนร่วมแบบเสมอภาค เหมาะสมและเป็นธรรม
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค224 การวิจัยทางสังคมสงเคราะห์ 1 3 หน่วยกิต
SW224 Social Work Research 1
วิชาบังคับก่อน : สอบได้ สค111
ศึกษาวิธีการต่าง ๆ ในการค้นคว้าหาความรู้ แนวคิด และระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ประยุกต์ใช้กับงานสังคมสงเคราะห์ ศึกษาสถิติเบื้องต้นที่จะเป็นพื้นฐานในการศึกษาวิจัย ฝึกหัดทำวิจัย ครอบคลุมตั้งแต่การกำหนดปัญหา การตั้งคำถามการวิจัย แนวคิดและสมมติฐาน การกำหนดประชากร การสุ่มตัวอย่าง การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล กระบวนการนำเสนอผลการวิจัย ทั้งวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ และวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ รวมทั้งใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ประกอบการฝึกด้วย
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค311 หลักและวิธีการสังคมสงเคราะห์ 2 3 หน่วยกิต
SW311 Social Work Methodology 2
วิชาบังคับก่อน : สอบได้ สค223
ศึกษาแนวคิดทฤษฎี หลักการ วิธีการ กระบวนการ และกลวิธีการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ในระดับชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเป็นบูรณาการ การจัดระเบียบชุมชน โดยการมีส่วนร่วมอย่างเต็มรูปขององค์กรชุมชนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน องค์กรส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคประชาชน การใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการสร้างฐานข้อมูลและเข้าถึงปัญหาและแนวทางการพัฒนา สวัสดิการของชุมชน และสวัสดิการพื้นถิ่นในรูปแบบต่าง ๆ การแสวงหาและใช้ทรัพยากร การบริหารจัดการองค์การต่าง ๆ ใน ชุมชนในลักษณะที่หลากหลายและเป็นพหุลักษณ์ การจัดทำแผนชุมชน การวิจัยโดยชุมชน บทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ในการทำงานร่วมกับชุมชนและองค์กรต่าง ๆ ในชุมชน
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค312 การวิจัยทางสังคมสงเคราะห์ 2 3 หน่วยกิต
SW312 Social Work Research 2
วิชาบังคับก่อน : สอบได้ สค224
ศึกษากระบวนการวิจัยทางสังคมสงเคราะห์ในฐานะเป็นวิธีการหลักที่สำคัญวิธีหนึ่งของการสังคมสงเคราะห์ เน้นศึกษาวิจัยเพื่อแสวงหาแนวทางในการพัฒนาคุณภาพบริการสำหรับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งบุคคล กลุ่มชุมชนและสังคม โดยเป็นกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างนักสังคมสงเคราะห์ กลุ่มเป้าหมาย ภาคที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งฝึกหัดทำวิจัยในรูปแบบต่าง ๆ
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค313 หลักและวิธีการสังคมสงเคราะห์ 3 3 หน่วยกิต
SW313 Social Work Methodology 3
วิชาบังคับก่อน : สอบได้ สค311 และสอบได้ หรือกำลังศึกษา สค202
ศึกษาทฤษฎีแนวคิด หลักการ วิธีการ เทคนิคและทักษะการบริหารทางสังคมสงเคราะห์ การกำหนดนโยบายกระบวนการในการจัดทำแผน การประมวล วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดนโยบายทั้งระดับชาติ ระดับองค์การและการวางแผนทางสังคมและ สวัสดิการสังคม การวิเคราะห์นโยบาย การบริหารงานเชิงยุทธศาสตร์ การพัฒนาระบบและกลไกการปฎิบัติงานให้บริการในระดับองค์การ ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน การประสานงานในรูปแบบต่าง ๆ การสร้างและพัฒนาเครือข่าย การจัดการลักษณะ โครงการ การพัฒนาองค์กรการเรียนรู้ การกำกับติดตามโดยการนิเทศงาน การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรการเรียนรู้
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค411 การสัมมนาทางสังคมสงเคราะห์ 3 หน่วยกิต
SW411 Social Work Seminar
วิชาบังคับก่อน : สอบได้ สค311
สัมมนาเพื่อสร้างเสริมความรู้ ทัศนคติ ทักษะทางวิชาชีพ การบูรณาการความรู้เกี่ยวกับวิธีการสังคมสงเคราะห์กับระบบ สวัสดิการสังคม การวิเคราะห์สถานการณ์การปฎิบัติงานสังคมสงเคราะห์ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก สังคมโลกาภิวัตน์ สังคมภูมิภาคและสังคมท้องถิ่น การประยุกต์ใช้ทฤษฎีการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์เพื่อการแสวงหาแนวทางในการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

วิชาบังคับภาคปฏิบัติ

สค201 การดูงานและสัมมนา 3 หน่วยกิต
SW201 Field Visits and Seminar
วิชาบังคับก่อน : สอบได้ สค111
(เฉพาะนักศึกษาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์)
ศึกษา เรียนรู้การปฏิบัติงานขององค์การสังคมสงเคราะห์ของภาครัฐ องค์การพัฒนาเอกชน องค์การปกครองส่วน ท้องถิ่น องค์กรประชาชน มุ่งให้นักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิด นโยบาย การบริหารงาน และการดำเนินงานขององค์การที่มีความหลากหลายของสังคมไทย รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบมี ส่วนร่วม เสริมสร้างทัศนคติทางวิชาชีพที่ดีของ นักศึกษาและจริยธรรมของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์
(บรรยาย และดูงาน สัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค202 การฝึกภาคปฏิบัติ 1 6 หน่วยกิต
SW202 Field Work Practicum 1
วิชาบังคับก่อน : สอบได้ สค201 และ สค223
(เฉพาะนักศึกษาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์)
ฝึกให้นักศึกษาได้นำวิธีการสังคมสงเคราะห์เฉพาะราย กลุ่ม ไปใช้ในการปฏิบัติงานขององค์การ ฝึกให้นักศึกษาเรียนรู้แนวคิด ทฤษฎี หลักการ ทักษะทางวิชาชีพ โดยเฉพาะการนำวิธีการสังคมสงเคราะห์แบบผสมผสานไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงานที่ ให้บริการ ฝึกให้นักศึกษารู้จักวิเคราะห์ เชื่อมโยงการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์แบบผสมผสาน การนำเสนอแนวคิดเพื่อปรับปรุงทั้งวิธีการให้บริการและการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยในระดับต่าง ๆ
(ฝึกภาคสนาม 270 ชั่วโมง ตลอดภาคการศึกษา)

สค301 การฝึกภาคปฏิบัติ 2 6 หน่วยกิต
SW301 Field Work Practicum 2
วิชาบังคับก่อน : สอบได้ สค202, สค311 และ สค313
(เฉพาะนักศึกษาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์)
ฝึกให้นักศึกษาได้นำวิธีการสังคมสงเคราะห์ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานกับชุมชนเมืองหรือชนบท ฝึกให้นักศึกษาสามารถศึกษาชุมชน วิเคราะห์ชุมชน การวางแผนดำเนินโครงการ การปฏิบัติการตามแผนงานการประเมินผลการดำเนินงาน โดยนำแนวคิด ทฤษฎี หลักการ และวิธีการสังคมสงเคราะห์แบบผสมผสานไปใช้ในการศึกษา ฝึกให้นักศึกษาเกิดทักษะการทำงานกับชุมชน การสร้างเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการปฏิบัติงานชุมชนทุกขั้นตอน การเรียนรู้กลยุทธ์ใหม่ในการทำงานกับ ชุมชน
(ฝึกภาคสนาม 270 ชั่วโมง ตลอดภาคการศึกษา)

วิชาเลือกในสาขา


1. กลุ่มวิชาเสริมแนวคิดและวิธีการสังคมสงเคราะห์ (Concepts and Social Work Methodology)

สค335 การพัฒนาและการจัดการโครงการทางสังคม 3 หน่วยกิต
SW335 Social Project Formulation and Management)
ศึกษาแนวคิด หลักการ กระบวนการ เทคนิคการจัดการโครงการทางสังคม เทคนิคการเสริมสร้างและสนับสนุนให้บุคคล กลุ่ม องค์การ ชุมชน และมวลชนมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารจัดการและประเมินผลโครงการ
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค336 พลวัตกลุ่มกับการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ 3 หน่วยกิต
SW336 Group Dynamics and Social Work Practice
ศึกษาแนวคิด หลักการ กระบวนการพลวัตกลุ่ม ศึกษาการใช้กระบวนการกลุ่มเพื่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ เสริม สร้างจิต สวัสดิการ (Welfare Minded) อันจะนำไปสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในด้านต่าง ๆ
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค337 การสังคมสงเคราะห์กับความเป็นธรรมในสังคม 3 หน่วยกิต
SW337 Social Work and Social Justice
ศึกษาปรัชญาแนวคิดว่าด้วยความยุติธรรม และความเป็นธรรมทางสังคม ที่มาแห่งสิทธิ สิทธิตามธรรมชาติ สิทธิ มนุษยชน สิทธิตามกฎหมาย แนวคิดและรูปแบบการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและเสริมสร้างความเป็นธรรมทางสังคม บทบาทของงานสังคมสงเคราะห์ในการพิทักษ์สิทธิ และผลประโยชน์ของประชาชน โดยเฉพาะเหยื่อหรือผู้เสียหายและผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่าง ๆ
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง / ศึกษาด้วยตัวเองสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง)

สค338 การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาสังคม 3 หน่วยกิต
SW338 Popular Participation is Social Development
ศึกษาแนวคิด หลักการ และความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งในระดับบุคคล กลุ่ม และชุมชน ในฐานะสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน กระบวนการ และวิธีการกระตุ้นปลุกจิตสำนึก ตลอดจนการสร้างโอกาสในการมีส่วนร่วม รวมทั้งแนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมโดยยุทธวิธีไร้ความรุนแรง
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค405 การฝึกภาคปฏิบัติ 3 6 หน่วยกิต
SW405 Field Work Practicum 3
วิชาบังคับก่อน : สอบได้ สค301
(เฉพาะนักศึกษาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์)
ฝึกให้นักศึกษาเรียนรู้ ประยุกต์ใช้ความรู้ทางสังคมสงเคราะห์ แนวคิด ทฤษฎี หลักการ วิธีการสังคมสงเคราะห์ไปใช้ในองค์การหน่วยงานที่ซับซ้อน การเรียนรู้กลยุทธ์ กลวิธีการทำงานระหว่างการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์โดยตรงกับโดยอ้อม ทักษะการปฏิบัติงานชั้นสูงตามความสนใจทั้งในและต่างประเทศ ฝึกให้นักศึกษาสร้างกลยุทธ์ใหม่ ๆ ในการปฏิบัติงานทางสังคมสงเคราะห์กับหน่วยงาน
(ฝึกภาคสนาม 270 ชั่วโมง ตลอดภาคการศึกษา)

สค435 การค้นคว้าเฉพาะเรื่อง 3 หน่วยกิต
SW435 Directed Study
วิชาบังคับก่อน : สอบได้ สค312
ศึกษาวิเคราะห์ประเด็น หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการสังคมสงเคราะห์ ในหัวข้อเรื่องที่นักศึกษาสนใจ
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค436 ทักษะ และเทคนิคในการทำงานกับผู้ใช้บริการ 3 หน่วยกิต
SW436 Skills and Techniques in Working with Clients
ศึกษา และวิเคราะห์เทคนิค ในการทำงานกับผู้รับบริการสวัสดิการต่าง ๆ ศึกษา และฝึกทักษะต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานกับผู้ใช้บริการ เช่น การสร้างสัมพันธภาพ การปะทะสังสรรค์ การสัมภาษณ์ การบันทึก การสังเกต ระหว่างผู้ใช้บริการ และนักสังคมสงเคราะห์
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค437 การพัฒนาระบบสวัสดิการ 3 หน่วยกิต
SW437 Development of Social Welfare Systems
ศึกษาวิเคราะห์แนวคิด พัฒนาการ และการเปลี่ยนแปลงของระบบสวัสดิการสังคมทั้งในระดับสากลและระบบสวัสดิการของประเทศไทย ทั้งสวัสดิการที่จัดโดยภาครัฐ องค์กรชำนัญพิเศษ ภาคเอกชน ประชาสังคม องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และองค์การพัฒนาเอกชน รวมทั้งทิศทางในการจัดระบบสวัสดิการสังคมในอนาคต ตลอดจนการแสวงหามิติใหม่ ๆ เพื่อการ ปรับปรุงระบบสวัสดิการสังคม และระบบสวัสดิการสังคมเชิงเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค438 การพัฒนานวัตกรรมในงานสังคมสงเคราะห์ 3 หน่วยกิต
SW438 Innovation Development in Social Work
ศึกษาการใช้แนวคิด วิธีการ เทคนิคและกระบวนการทำงานในรูปแบบต่าง ๆ เชิงนวัตกรรม ที่มีความทันสมัย สอดคล้องและเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นพลวัต การใช้รูปแบบเชิงลึก ที่ผสานวิธีการทำงานในเชิงกระบวนการทางจิตวิทยา กระบวนการกลุ่ม กลุ่มนันทนาการ การเสริมกระบวนการเรียนรู้ การทำค่ายครอบครัว การทำค่ายเชิงบำบัดฟื้นฟู ค่ายพัฒนาบุคลิกภาพ ค่ายในรูปแบบของหลักศาสนา การทำบทบาทสมมุติ การทำงานกับชุมชนในลักษณะของการศึกษามิติทางประวัติศาสตร์ การศึกษาประวัติชีวิต ประวัติชุมชน การจัดตั้งกลุ่มพลังในชุมชน การใช้รูปแบบเชิงบำบัดระดับลึก เช่น ศิลปบำบัด การบำบัดโดยการเล่น (play therapy) ดนตรีบำบัด อาชีวะบำบัด การจัดทำแผนชีวิตชุมชน การกระทำทางสังคม ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค439 การให้การปรึกษาทางสังคมสงเคราะห์ 3 หน่วยกิต
SW439 Social Work Counseling
ศึกษาหลักการ วิธีการและเทคนิคในการให้การปรึกษา การให้ความช่วยเหลือบุคคล ครอบครัว กลุ่มต่าง ๆ ด้วยการสร้าง สัมพันธภาพทางวิชาชีพ การสะท้อนกลับ การรู้จักตนเอง พัฒนาตนเอง ตลอดจนการรวบรวมนำเสนอข้อมูลเพื่อใช้ในการให้บริการด้านสวัสดิการสังคม
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค445 การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันครอบครัว 3 หน่วยกิต
SW445 Strengthening of Family Institution
ศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับครอบครัวและสถาบันครอบครัว สภาวะครอบครัวไทยและต่างประเทศเชิงวิเคราะห์ ปัจจัย แวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อความมั่นคงของสถาบันครอบครัวไทย ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน มาตรการ แนวทาง วิธีการและเทคนิคในการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้สถาบันครอบครัวมีความมั่นคง และมีศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ทางสังคมได้อย่างมี ประสิทธิภาพและประสิทธิผล
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค446 การจัดการความขัดแย้งในงานสังคมสงเคราะห์ 3 หน่วยกิต
SW446 Conflict Resolution in Social Work
ศึกษาแนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง หลักการบริหารจัดการความขัดแย้ง พัฒนาการและกระบวนการจัดการความขัดแย้งทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ศึกษาทักษะและเทคนิคการจัดการความขัดแย้งในรูปแบบต่าง ๆ การเจรจาต่อรอง (Negotiation) การไกล่เกลี่ย (Machination) เป็นต้น รวมทั้งบทบาทหน้าที่ของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ และทีมงานสหวิชาชีพในการปกป้อง คุ้มครองด้วยกระบวนการเสริมสร้างพลังอำนาจ การพิทักษ์สิทธิ์ กระบวนการทางกฎหมาย และกระบวนการทางสังคมอื่น ๆ ในการจัดการความขัดแย้ง
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

2. กลุ่มวิชาสหศาสตร์และสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ประยุกต์ (Interdisciplinary and Applied Methodology)

สค265 การสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ 3 หน่วยกิต
SW265 Medical Social Work
วิชาบังคับก่อน : สอบได้ สค 111 หรือโดยการอนุมัติของผู้บรรยาย
ศึกษาความหมาย ขอบเขต และวิวัฒนาการของงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ การประยุกต์ใช้ทฤษฎี และวิธีการทางสังคมสงเคราะห์ในการแพทย์และการสาธารณสุข การมีส่วนร่วมในระบบประกันสุขภาพ การศึกษาในลักษณะวิชาชีพ การพัฒนาสุขภาพอนามัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิต
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค266 การสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ฝ่ายจิต 3 หน่วยกิต
SW266 Psychiatric Social Work
วิชาบังคับก่อน : สอบได้ สค 111 หรือโดยการอนุมัติของผู้บรรยาย
ศึกษาความหมาย ขอบเขตและวิวัฒนาการของงานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ฝ่ายจิต การวิเคราะห์สภาวะแวดล้อมทางสังคม ที่มีผลต่อพยาธิสภาพทางจิต และพฤติกรรมอปกติ ตลอดจนบทบาทและหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ฝ่ายจิต
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค365 ชีวิตครอบครัวศึกษา เพศศึกษาและจริยธรรมทางเพศ 3 หน่วยกิต
SW365 Family Life, Sex Education and Ethics
ศึกษาความสัมพันธ์ใครอบครัว เพศสัมพันธ์ในบริบททางสังคม ค่านิยมทางวัฒนธรรม และจริยธรรมทางเพศ และบูรณาการของเพศสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ต่อการยกระดับของคุณค่าความเป็นมนุษย์ การหนุนสร้างชีวิตครอบครัวที่มีความสุขและมีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม ทักษะที่จำเป็นในการสร้างชีวิตครอบครัวอย่างยั่งยืน เช่น การแก้ไขปัญหาชีวิตในครอบครัว
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค366 สวัสดิการครอบครัวและเด็ก 3 หน่วยกิต
SW366 Family and Child Welfare
พื้นความรู้ : สอบได้ สค111 หรือโดยอนุมัติจากผู้บรรยาย
ศึกษาความหมาย ขอบเขต และวัตถุประสงค์ของสวัสดิการครอบครัวและเด็ก วิเคราะห์ปัญหาครอบครัว ที่นำไปสู่ความต้องการสวัสดิการครอบครัวและเด็ก ปัจจัยสำคัญ ที่เป็นแนวทางนำความสุขมาสู่ครอบครัว หลักการ และวิธีการให้สวัสดิการครอบครัวและเด็ก บริการสวัสดิการครอบครัวและเด็กของต่างประเทศและประเทศไทย หน่วยงานที่ให้บริการสวัสดิการครอบครัวและเด็ก บทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ที่ทำงานด้านสวัสดิการครอบครัวและเด็กในเชิงสหวิชาชีพ ปัญหา และอุปสรรคในงาน สวัสดิการครอบครัวและเด็ก ตลอดจนวิถีทางในการปรับปรุงแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวไทย
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค367 แรงงานศึกษา 3 หน่วยกิต
SW367 Labor Studies
ศึกษาความหมาย ขอบเขตของแรงงาน ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ ความสำคัญของแรงงานที่มีต่อเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และพลวัตของแรงงานที่มีปฏิสัมพันธ์กับภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม ในมิติทางเศรษฐศาสตร์ การเมือง สังคมและประวัติศาสตร์ ทั้งในระดับองค์กร ประเทศ และระดับนานาประเทศ
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค465 การศึกษากับการพัฒนาสังคม 3 หน่วยกิต
SW465 Education and Social Development
ศึกษาถึง ความหมาย หน้าที่ จุดมุ่งหมายและรูปแบบของการศึกษา ในฐานะเป็นมรรควิธีในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ และรังสรรค์การอยู่ร่วมกัน ระหว่างสังคมที่ก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อมนุษยชาติ และธรรมชาติ
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค466 การสังคมสงเคราะห์ทางการศึกษา 3 หน่วยกิต
SW466 Social Work in Education
วิชาบังคับ : สอบได้ สค111 หรือโดยการอนุมัติของผู้บรรยาย
ศึกษาความหมาย ขอบเขต วิวัฒนาการ กระบวนการ วิธีการ ตลอดจนบริการของงานสังคมสงเคราะห์ทางการศึกษา การประยุกต์ใช้ทฤษฎีและวิธีการทางสังคมสงเคราะห์ในการศึกษา บทบาทและหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์ทางการศึกษา
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค467 การป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด 3 หน่วยกิต
SW467 Crime Prevention and Treatment of Offenders
ศึกษาแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรม รูปแบบ และกระบวนการในการป้องกันอาชญากรรม หลักการและวิธีการทางสังคมสงเคราะห์ในการฟื้นฟู แก้ไข และบำบัดผู้กระทำผิด
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค468 การสังคมสงเคราะห์ในกระบวนการยุติธรรม 3 หน่วยกิต
SW468 Social Work in Criminal Justice
วิชาบังคับก่อน : สอบได้ สค111 หรือโดยการอนุมัติของผู้บรรยาย
ศึกษา และวิเคราะห์ปรัชญา แนวคิด ทฤษฎี รูปแบบการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ในกระบวนการ ยุติธรรม ตลอดจนการประยุกต์งานสังคมสงเคราะห์ ประเมินมาตรการลงโทษผู้กระทำผิดในกระบวนการยุติธรรม และมีการจัดการศึกษาดูงานในหน่วยงานที่ให้บริการในกระบวนการยุติธรรม
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค469 สังคมสงเคราะห์กับกฎหมาย 3 หน่วยกิต
SW469 Social Work and the Law
ศึกษาระบบกฎหมาย ปรัชญา แนวคิด ตัวบทกฎหมาย กระบวนการและวิเคราะห์ปัญหาข้อโต้แย้งทางกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับงานสวัสดิการสังคม งานสังคมสงเคราะห์ รวมทั้งบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์กับกฎหมายดังกล่าว
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค475 ปัญหาแรงงานและมาตรการทางกฎหมาย 3 หน่วยกิต
SW475 Labour Problems and Legal Measures
ศึกษาแรงงาน ในฐานะที่เป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม ปัญหาแรงงานในระดับกว้าง และในระดับที่เกี่ยวข้องกับตัวคนงานและครอบครัว กฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการแรงงานและความมั่นคงปลอดภัยของคนงาน มาตรการในการ ป้องกันแก้ไขปัญหาแรงงาน ทั้งนี้โดยเน้นสภาพและปัญหาของประเทศไทยเป็นสำคัญ
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค476 การสังคมสงเคราะห์ในอุตสาหกรรมและสวัสดิการแรงงาน 3 หน่วยกิต
SW476 Industrial Social Work and Labour Welfare
วิชาบังคับก่อน : สอบได้ สค111 หรือโดยการอนุมัติของผู้บรรยาย
ศึกษาปัญหาสังคม ที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรม วิวัฒนาการของการสังคมสงเคราะห์ในอุตสาหกรรมและ สวัสดิการแรงงาน การประยุกต์ใช้ทฤษฎีทางสังคมสงเคราะห์ และสวัสดิการแรงงานในงานอุตสาหกรรมหน้าที่ และความรับ ผิดชอบของลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค477 สวัสดิการชุมชน 3 หน่วยกิต
SW477 Community Welfare
ศึกษาและวิเคราะห์แนวคิดและปฏิบัติการของชุมชนในการจัดการสวัสดิการที่ตอบสนองต่อวิถีชีวิตของชุมชน โดยฐานภูมิปัญญาเชิงบูรณาการที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม ตลอดจนศึกษาวิเคราะห์กระบวนการเชิงนโยบายและมาตรการ ของรัฐ ในการสนับสนุนสวัสดิการชุมชน
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค478 เพศสภาพกับการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 3 หน่วยกิต
SW478 Gender in Social Development and Human Security
ศึกษาและวิเคราะห์แนวคิดทฤษฎีและปฏิบัติการในมิติของเพศสภาพ ที่มีความสัมพันธ์กับกระบวนการพัฒนาสังคมและการหนุนสร้างความมั่นคงของมนุษย์ วิเคราะห์ปรากฎการณ์ สภาพและเหตุการณ์จริงในชีวิตทางสังคมด้านต่างๆ ที่สะท้อนความไม่เท่าเทียมทางเพศ ตลอดจนศึกษาทางเลือกที่เหมาะสมกับการพัฒนาสังคมและการหนุนสร้างความมั่นคงของมนุษย์ที่ตอบสนองความเท่าเทียมทางเพศ
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค479 สิทธิมนุษยชน การพิทักษ์สิทธิและการเสริมสร้างพลังอำนาจ 3 หน่วยกิต
SW479 Human Rights, Advocacy and Empowerment
ศึกษาแนวคิด ปรัชญา ความหมาย และที่มาของสิทธิมนุษยชน สิทธิประชาชน และสิทธิสวัสดิการ (Welfare Right) พัฒนาการและกระแสความเคลื่อนไหวของสิทธิด้านต่าง ๆ นโยบาย และการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศ และ ต่างประเทศ รวมทั้งศึกษาแนวคิด ทฤษฎีของการพิทักษ์สิทธิ์ การเสริมสร้างพลังอำนาจ กระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อพิทักษ์สิทธิ์ ส่งเสริมพลังอำนาจ และคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล องค์กร กลุ่ม ชุมชน ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์และทีมงานสหวิชาชีพในการปกป้อง คุ้มครอง เฝ้าระวังการถูกละเมิดสิทธิทางกาย จิตใจ และทางกฎหมายที่มีต่อผู้ทุกข์ยาก เดือดร้อนทางสังคม
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค485 เทคโนโลยีสารสนเทศกับงานสังคมสงเคราะห์ 3 หน่วยกิต
SW485 Information Technology and Social Work
ศึกษาวิธีการค้นหา เข้าถึง และการจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานสังคมสงเคราะห์อย่างเป็นระบบ โดยการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ รวมถึงการติดต่อสื่อสาร การประชาสัมพันธ์สารสนเทศนั้นไปยังกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค486 การระดมทุนทางสังคมในงานสังคมสงเคราะห์ 3 หน่วยกิต
SW486 Mobilization and Utilization of Social Capital in Social Work
ศึกษาวิเคราะห์แนวคิด ความเป็นมา และความสำคัญของทุนทางสังคมในฐานะเป็นทรัพยากร ในการปฎิบัติงานสังคมสงเคราะห์ ศึกษาและประยุกต์ใช้ทักษะต่างๆ ในการประสาน ระดม สรรหา และปรับใช้ทรัพยากรและทุนทางสังคมในมิติต่าง ๆ มาสนับสนุนการปฏิบัติงานทางด้านการสังคมสงเคราะห์ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค487 สวัสดิการผู้สูงอายุ 3 หน่วยกิต
SW487 Social Welfare for the Older Persons
ศึกษาความสำคัญ และความจำเป็นของการศึกษาเรื่องผู้สูงอายุ ศึกษาแนวคิด ทฤษฎีชราภาพศาสตร์ โดยเน้นทฤษฎีทางสังคมที่เกี่ยวกับภาวะความชรา กระบวนการเข้าสู่วัยสูงอายุ ระบบสวัสดิการสังคม นโยบาย กฎหมาย มาตรการและการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ การจัดบริการทั้งระดับครอบครัว ชุมชน และสถาบัน รวมทั้งวิธีการ และเทคนิคการทำงานกับผู้สูงอายุ
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค488 สวัสดิการสตรีและเด็กในภาวะยากลำบาก 3 หน่วยกิต
SW488 Social Welfare for Women and Children in Difficulties
ศึกษา วิเคราะห์ สถานการณ์ที่มีผลต่อสตรีและเด็ก นโยบายของภาครัฐ และภาคเอกชน ที่เกี่ยวกับสตรีและเด็กในภาวะยากลำบาก บทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ ในการทำงานกับสตรีและเด็กในภาวะยากลำบากทั้งในและต่างประเทศ
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค489 สวัสดิการสำหรับคนพิการ 3 หน่วยกิต
SW489 Social Welfare for People with Disability
ศึกษาลักษณะ ประเภท สาเหตุของความพิการ การจัดบริการที่หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมทั้งบริการต่างๆ ที่จัดโดยกลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองและบุคคลพิการเองจัดขึ้นสำหรับคนพิการ การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในทุกด้าน ตลอดจนการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในชุมชน ศึกษากฎหมายและกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สค495 สวัสดิการสำหรับกลุ่มพิเศษ 3 หน่วยกิต
SW495 Social Welfare for Special Groups
ศึกษาแนวคิด หลักการ ของการจัดสวัสดิการสำหรับกลุ่มเป้าหมายลักษณะพิเศษ ที่เกิดจากเงื่อนไขและพลวัตของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม กลุ่มคนชายขอบ ชาติพันธุ์ คนพลัดถิ่น คนไร้บ้าน คนที่เผชิญปัญหาจากระบบในกระบวนการยุติธรรม กลุ่มคนทำงานให้บริการทางเพศ กลุ่มผู้ติดยาเสพติด กลุ่มผู้ด้อยโอกาสอื่น ๆ ที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรทางสังคม ฯลฯ ศึกษาธรรมชาติของกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่าง หลากหลาย ปัจจัยที่ก่อปัญหาทั้งปัจจัยเชิงโครงสร้าง ระบบและเชิงปัจเจก วิเคราะห์สวัสดิการที่รัฐ และเอกชนดำเนินการอยู่ในด้านความครอบคลุม ทั่วถึง ความเหมาะสม พอเพียงและความเป็นธรรม รวมถึงปัญหาในระบบให้บริการและข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดสวัสดิการอย่างบูรณาการ
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

3. กลุ่มวิชาเลือกนอกสาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์

สษ256 ภาษาอังกฤษสำหรับนักสังคมสงเคราะห์ 1 3 หน่วยกิต
EL256 English for Social Workers 1
วิชาบังคับก่อน : สอบได้ สษ. 172
ศึกษาและฝึกฝนให้เข้าใจโครงสร้าง ศัพท์และสำนวนภาษาอังกฤษที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในงานสังคมสงเคราะห์ พร้อมทั้งฝึกหัดการใช้ศัพท์และสำนวนในการฟัง-พูด และอ่าน
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

สษ356 ภาษาอังกฤษสำหรับนักสังคมสงเคราะห์ 2 3 หน่วยกิต
EL356 English for Social Workers 2
วิชาบังคับก่อน : สอบได้ สษ. 256
ศึกษาและฝึกฝนแนวทางในการอ่านและเขียนข้อความที่เน้นเนื้อหาสังคมสงเคราะห์ เช่น การอ่านตำรา บทความวารสาร การเขียนจดหมายโต้ตอบ และการเขียนรายงาน
(บรรยายสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง)

การเรียนการสอน

หลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2547)

ชื่อหลักสูตร หลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตรบัณฑิต
Bachelor of Social Work Program

ชื่อปริญญา
ชื่อเต็ม สังคมสงเคราะห์ศาสตรบัณฑิต
Bachelor of Social Work
ชื่อย่อ สส.บ.
B.S.W.





วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
เพื่อผลิตบัณฑิต ให้สามารถบูรณาการองค์ความรู้ ทัศนคติ และทักษะทางวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ที่เชื่อมโยงการปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ มีความสามารถพัฒนากลวิธีการทำงานใหม่ ๆ และประยุกต์เครื่องมือการทำงานทางวิชาชีพในการทำงานกับคน องค์กร ท้องถิ่น ชุมชน สังคม ทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค สากล รวมทั้งสามารถทำงานแบบสหวิชาชีพได้อย่างเหมาะสม







โครงสร้างและองค์ประกอบของหลักสูตร

นักศึกษาจะต้องจดทะเบียนศึกษารายวิชาไม่น้อยกว่า 135 หน่วยกิต โดยได้ศึกษารายวิชาต่าง ๆ ให้ครบตามโครงสร้าง องค์ประกอบ และข้อกำหนดของหลักสูตร ดังนี้
1. วิชาพื้นฐานทั่วไป 30 หน่วยกิต
2. วิชาเฉพาะด้าน 99 หน่วยกิต
2.1 วิชาเอกสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ (75 หน่วยกิต)
2.2 วิชาโท หรือวิชาเลือก (24 หน่วยกิต)
3. วิชาเลือกเสรี 6 หน่วยกิต
รวม 135 หน่วยกิต







ข้อกำหนดของหลักสูตร


1. วิชาพื้นฐานทั่วไป นักศึกษาจะต้องศึกษาวิชาในหลักสูตรพื้นฐานทั่วไป 30 หน่วยกิต ตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยกำหนด
2. วิชาเฉพาะด้าน จำนวน 99 หน่วยกิต คือ
2.1 วิชาเอกสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ 75 หน่วยกิต ประกอบด้วย

1) วิชาบังคับในสาขา 51 หน่วยกิต
1.1) วิชาบังคับภาคทฤษฎี 36 หน่วยกิต มี 12 วิชา คือ
สค.211, สค.212, สค.213, สค.214, สค.221, สค.222, สค.223, สค.224, สค.311, สค.312, สค.313, สค.411

1.2) วิชาบังคับภาคปฏิบัติ 15 หน่วยกิต มี 3 วิชา คือ
สค.201, สค.202, สค.301

2) วิชาเลือกในและนอกสาขา 9 หน่วยกิต โดยเลือกศึกษาวิชาดังต่อไปนี้
2.1) กลุ่มวิชาเสริมแนวคิดและวิธีการสังคมสงเคราะห์
(Concepts and Social Work Methodology)
สค.335, สค.336, สค.337, สค.338, สค.405, สค.435, สค.436, สค.437,
สค.438, สค.439, สค.445, สค.446
2.2) กลุ่มวิชาสหศาสตร์และสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ประยุกต์
(Interdisciplinary and Applied Methodology)
สค.265, สค.266, สค.365, สค.366, สค.367, สค.465, สค.466, สค.467, สค.468, สค.469, สค.475, สค.476, สค.477, สค.478, สค.479, สค.485, สค.486, สค.487, สค.488, สค.489, สค.495
2.3) กลุ่มวิชาเลือกนอกสาขา
สษ.256, สษ.356


3) วิชาบังคับนอกสาขา 15 หน่วยกิต มี 5 วิชา ได้แก่
น.269, ม.201, ร.211, ศ.210, สว.201


หมายเหตุ
1) สำหรับผู้ที่เลือกศึกษาสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเป็นวิชาโท ให้เลือกศึกษาวิชาอื่น ๆ ในคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา 2 วิชา (6 หน่วยกิต) โดยเลือก สาขาละ 1 วิชา คือ จากสาขาสังคมวิทยา 1 วิชา และจากสาขามานุษยวิทยา 1 วิชา แทนวิชา ม.201 และ สว.201 ตามลำดับ
2) สำหรับผู้ที่เลือกศึกษาสาขาวิชารัฐศาสตร์เป็นวิชาโท ให้เลือกจดทะเบียนเรียน 1 วิชา จากวิชาเฉพาะสาขา ( ใน 3 สาขา) ของคณะรัฐศาสตร์ ตามข้อ 2.2 ก แทนวิชา ร.211










2.2 วิชาโท หรือวิชาเลือก 24 หน่วยกิต นักศึกษาอาจเลือกศึกษารูปแบบใดรูปแบบหนึ่งดังนี้
1) วิชาโท 24 หน่วยกิต
นักศึกษาอาจเลือกศึกษาสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นวิชาโท โดยศึกษาตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของหลักสูตรวิชาโทสาขาวิชานั้น ๆ และหากมีจำนวนหน่วยกิตของวิชาโทเหลืออยู่นักศึกษาจะต้องเลือกศึกษาวิชาจากสาขาต่างๆ ที่เปิดสอนในหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อให้ครบจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดไว้ข้างต้น ทั้งนี้นับรวมวิชาพื้นฐานทั่วไปหมวดภาษาต่าง-ประเทศ
2) วิชาเลือก 24 หน่วยกิต
นักศึกษาอาจเลือกศึกษาจากวิชาของสาชาวิชาใดก็ได้ ที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวม ไม่เกิน 4 สาขา ไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต




3. วิชาเลือกเสรี ไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต
นักศึกษาอาจเลือกศึกษารายวิชาใดก็ได้ที่เปิดสอนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นวิชาเลือกเสรี ไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต ทั้งนี้ นับรวมวิชาพื้นฐานทั่วไปหมวดภาษาต่างประเทศด้วย







4. การศึกษาสาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์เป็นวิชาโท
นักศึกษานอกคณะที่ประสงค์จะศึกษาสาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์เป็นวิชาโท ต้องศึกษารายวิชาเฉพาะด้านของสาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต โดยศึกษารายวิชาต่าง ๆ และตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
4.1 วิชาบังคับ 18 หน่วยกิต ดังนี้
สค.111, สค.212, สค.213, สค.214, สค.223, สค.311
4.2 วิชาเลือกไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต (ในกรณีที่นักศึกษาลงทะเบียนเรียนวิชา สค.111 เป็นวิชาพื้นฐานของมหาวิทยาลัยแล้ว ให้เรียนวิชาเลือกไม่น้อยกว่า 9 หน่วยกิต) โดยเลือกจากวิชาเลือกในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
นักศึกษาที่ประสงค์จะเรียนหลักสูตรวิชาโท จะต้องวางแผนการศึกษากับโครงการปริญญาตรีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์







5. การศึกษาเพื่อรับอนุปริญญาในสาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์


นักศึกษาผู้ใดได้ศึกษารายวิชาต่าง ๆ ตามหลักสูตรในสาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ไม่น้อยกว่า 105 หน่วยกิต ตามเงื่อนไขต่อไปนี้ มีสิทธิ์ได้รับอนุปริญญา
5.1 ได้ค่าระดับเฉลี่ยสะสมไม่น้อยกว่า 2.00
5.2 ได้ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ภาคการศึกษา
5.3 ได้ศึกษาวิชาพื้นฐานทั่วไปของมหาวิทยาลัย ครบตามหลักสูตร รวม 30 หน่วยกิต
5.4 ได้ศึกษาวิชาเฉพาะของสาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ไม่น้อยกว่า 75 หน่วยกิตตามเงื่อนไขต่อไปนี้

1) วิชาบังคับในสาขา 51 หน่วยกิต คือ
1.1) วิชาบังคับภาคทฤษฎี 36 หน่วยกิต
1.2) วิชาบังคับภาคปฏิบัติ 15 หน่วยกิต
2) วิชาเลือกในและนอกสาขา 9 หน่วยกิต
3) วิชาบังคับนอกสาขา 15 หน่วยกิต

เริ่ม

สวัสดีครับ
จุดประสงค์ของการทำบล้อกนี้ก็คือต้องการที่จะรวบรวมความรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอนในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
รวมถึงประสบการณ์ในการฝึกงานด้วยนะครับ




เอาไว้จะทยอยๆมาเล่าละกันนะครับ